ความแตกต่างของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทย และฟิลิปปินส์

ความแตกต่างของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทย และฟิลิปปินส์

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสด้านการศึกษา และการทำงานทั่วโลก แต่เมื่อพูดถึงวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทยและคนฟิลิปปินส์มีแนวทางการเรียนการสอนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สาเหตุของความแตกต่างนี้มาจากปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ความคุ้นเคยกับภาษา ตลอดจนทัศนคติ และการฝึกฝนในชีวิตประจำวัน

ในประเทศฟิลิปปินส์ ภาษาอังกฤษมีบทบาทอย่างมากในการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่วนในประเทศไทย ภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาต่างประเทศที่หลายคนรู้สึกท้าทาย การเปรียบเทียบวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสองประเทศนี้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และการออกแบบกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละบริบท วันนี้ KPG Learn จะพาทุกคนมาดูความแตกต่างของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของคนไทย และคนฟิลิปปินส์ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

ภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับภาษาอังกฤษ

เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกามานานเกือบ 50 ปี ภาษาอังกฤษจึงถูกฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวฟิลิปปินส์มาอย่างยาวนาน ทำให้ภาษาอังกฤษเป็นทั้งภาษาราชการ และเป็นภาษาที่ใช้กันทั่วไปควบคู่กับภาษาฟิลิปปินส์มาจนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่ประเทศไทยมีการใช้ภาษาอังกฤษอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด เช่น ในภาคธุรกิจ และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ภาษาอังกฤษไม่ได้ถูกใช้เป็นภาษาราชการ และไม่ได้มีการใช้กันในชีวิตประจำวัน จึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษนั่นเอง

ความเชี่ยวชาญทางด้านภาษา

ประเทศฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และยังใช้ในการเรียนการสอนคู่กันกับภาษาฟิลิปปินส์มาตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่คุ้นเคย และเติบโตมากับการใช้ภาษาอังกฤษ ครูสอนภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ มีทักษะด้านภาษาแทบจะไม่แตกต่างจากเจ้าของภาษา

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมีความพยายามในการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษ โดยมีการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนมากขึ้น แต่ถึงแม้จะมีความพยายามดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จากผลการจัดอันดับ EF English Proficiency Index ปี 2022 ไทยยังมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นอันดับ 97 จาก 111 ประเทศ อยู่ในระดับ Very Low Proficiency จึงถือเป็นความท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษของคนไทยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น

วิธีการ และสไตล์การสอน

สไตล์การเรียนการสอนภาษาอังกฤษของครูฟิลิปปินส์ และครูไทยค่อนข้างมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ครูฟิลิปปินส์จะเน้นสอนการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน สอนทักษะทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อให้สามารถเข้าใจ และใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยที่มักเน้นการท่องจำไวยากรณ์ และคำศัพท์ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้จักไวยากรณ์ รู้คำศัพท์ แต่กลับไม่สามารถสื่อสารได้ในชีวิตประจำวัน

มุมมองด้านวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการเรียนภาษา

อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาส่งผลอย่างมากต่อวัฒนธรรมรวมถึงระบบการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์ การเรียนในฟิลิปปินส์จึงเป็นสไตล์แบบที่เน้นการมีส่วนร่วม โดยผู้เรียนสามารถแชร์ความคิดเห็นได้อย่างอิสระ คลาสเรียนมักขับเคลื่อนด้วยการอภิปราย และกิจกรรมกลุ่มเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม

ในขณะที่ประเทศไทยมีลักษณะของสังคมที่ให้ความเคารพเรื่องความอาวุโส ทำให้วัฒนธรรม “ความเกรงใจ” ถูกนำมาใช้ในคลาสเรียนด้วย นักเรียนไทยจึงมักลังเลที่จะตั้งคำถาม หรือเลือกที่จะไม่เสนอความคิดเห็นที่ต่างไปจากครูผู้สอน ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของนักเรียนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความท้าทายที่ผู้เรียนต้องเผชิญ

ความท้าทาย และอุปสรรคสำคัญสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษของคนฟิลิปปินส์ และคนไทยมีความแตกต่างกัน แม้ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาราชการ และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในฟิลิปปินส์ แต่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ ที่มีชนพื้นเมืองหลายกลุ่มอาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ และมีการใช้ภาษาท้องถิ่นมากกว่า 170 ภาษา ทำให้มีการใช้ภาษาอังกฤษหลากหลายสำเนียง การเรียนภาษาอังกฤษกับครูฟิลิปปินส์จึงต้องพิจารณาเลือกคุณครูที่สอนอยู่ในสถาบันที่น่าเชื่อถือ

ในขณะที่ลักษณะของภาษาไทยเป็นแบบ Tonal language คือเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ เมื่อออกเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ความหมายก็จะเปลี่ยนไป และไม่มีการเน้นเสียงหนักเสียงเบา ต่างจากภาษาอังกฤษที่เป็นภาษา Stress-timed language คือมีการเน้นเสียง และมีการรวบคำในบางพยางค์ นอกจากนี้ยังมีเสียงภาษาอังกฤษบางเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย เช่น TH, SH, Z ความแตกต่างนี้ล้วนส่งผลต่อการเรียนภาษาอังกฤษสำหรับคนไทย โดยเฉพาะการเรียนกับครูสอนภาษาอังกฤษชาวไทย

การใช้เทคโนโลยีในการเรียนภาษาอังกฤษ

ประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษาอย่างหลากหลาย โดยรัฐบาลได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนผ่านระบบดิจิทัล ทำให้คนไทยมีสื่อออนไลน์ และแอปพลิเคชันด้านการศึกษามากมาย รวมทั้งแอปสอนและฝึกภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม การจัดการองค์ความรู้ และการใช้สื่อออนไลน์เพื่อเรียนรู้ภาษาอังกฤษในภาพรวม ยังไม่ได้เป็นระบบที่ชัดเจน

ในขณะที่การเรียนภาษาอังกฤษในฟิลิปปินส์ มีการผสมผสานระหว่างรูปแบบดั้งเดิม และรูปแบบออนไลน์ โดยมีการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการของนักเรียนจากทั่วโลก ที่สนใจหลักสูตร ESL (English as a Second Language) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เหมาะกับการเรียนภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง

ธรรมชาติการใช้ภาษาอังกฤษจากปัจจัยทั้งหมดดังที่กล่าวมา ทำให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยยังมีอุปสรรค และความท้าทายอยู่มากพอสมควร การจะเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้สามารถสื่อสาร และใช้งานได้จริง จึงอาจต้องพิจารณารูปแบบการเรียนการสอนแบบอื่น รวมถึงคุณครูผู้สอนที่เป็นผู้มีทักษะชำนาญ และสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ สนใจเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวฟิลิปปินส์สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของ KPG ได้ ที่นี่ หรือแอดไลน์ @kpglearn

Similar Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *